ฟังคุณด้วยใจ โทร. 02-113-6789 เวลา 12:00-22:00 น.

10 กันยายน วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก

วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก

(World Suicide Prevention Day)

องค์การ อนามัยโลกได้กำหนดให้ ทุกวันที่ 10 กันยายน ของทุกปี เป็น วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) โดยประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อ ปี ค.ศ. 2003 (ซึ่งก็ตรงกับปี พ.ศ. 2546 ของไทย) ถ้านับปีนี้ คือ ปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) เป็นปีที่ 13 โดยมีคำขวัญประจำปีนี้คือ “Many Faces, Many Places : Suicide Prevention Across the World”

จาก ข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO-SUPRE 2007 ) กล่าวว่า อัตราการฆ่าตัวตายมีแนวโน้มสูงขึ้น 60% ในช่วง 50 ปีมานี้ และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชีย ในแต่ละปีทั่วโลกมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 ล้านคน และคาดว่าอาจถึง 1.5 ล้านคนต่อปีในอีก 16 ปีข้างหน้า ในขณะเดียวกันปัจจุบันปีหนึ่งๆมีผู้คนประมาณ 10 –20 ล้านคนพยายามฆ่าตัวตาย ทั้งนี้ตัวเลขคนฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าตัวเลขคนที่ถูกฆาตกรรมและเสียชีวิตใน สงครามรวมกัน (WHO 2008)

ข้อมูลทางวิชาการจิตเวช

กว่า 60-90% ของผู้ที่ฆ่าตัวตายมีความเกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าและสารเสพติด มีเพียง 30% เท่านั้นที่มาพบแพทย์ การค้นหากลุ่มเสี่ยงโดยการคัดกรองภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของบุคคลในชุม ชุน นำเข้าสู่ระบบการรักษา ร่วมกับการเข้าไปให้ความรู้เบื้องต้นแก่ประชาชนทั่วไป เป็นวิธีการป้องกันการฆ่าตัวตายที่มีประสิทธิภาพ (WHO/MNH/ MBD/00.1 2007 : 6)

การฆ่าตัวตายกับวัฒนธรรม

ความ ซับซ้อนทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันระหว่างประชาชนในเขตภูมิภาคต่างๆเป็น ประเด็นสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องทั่วโลกจะต้องตระหนักและให้ความสำคัญ ซึ่งยุทธศาสตร์ป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย (U.S. Public Health Service 1999: 8-9) กล่าวว่า วัฒนธรรม ความเชื่อ เป็นทั้งปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยปกป้องของการฆ่าตัวตายที่สำคัญ จึงรณรงค์เน้นให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงความเกี่ยวข้อง ซึ่งในการแก้ปัญหาจะต้องเข้าใจบริบทของแต่ละวัฒนธรรมเพื่อเน้นการทำงานให้มี ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในประเทศแถบตะวันออก ที่มีวัฒนธรรม ความเชื่อฝังรากลึกมายาวนาน บางอย่างเป็นความภาคภูมิใจของบุคคลในท้องถิ่นนั้นๆ

ข้อแตกต่างบางประการระหว่างประเทศแถบตะวันตกและแถบตะวันออก (Robert 2006)

ประเทศ แถบตะวันตก การฆ่าตัวตายถูกมองและเชื่อมโยงอยู่กับ ปัจเจกบุคคล (Ego-centric) ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาวิกฤตส่วนบุคคลและการเจ็บป่วยทางจิตเวช

ประเทศแถบตะวันออก การฆ่าตัวตายถูกมองและเชื่อมโยงกับ (Socio-centric) ทั้งวัฒนธรรม ค่านิยมทางสังคม และความเชื่อของบุคคลและสังคม

วัฒนธรรม และค่านิยมบางประการในบางประเทศ ดังเช่นภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออก เช่น วัฒนธรรมญี่ปุ่น ที่มีมาตั้งแต่โบราณให้การยอมรับการฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่มีเกียรติสูงสุด ดังเช่น การฆ่าตัวตายโดยการคว้านท้องของซามูไรโบราณ ที่พวกเรารู้จักกันในชื่อ “Hara Kiri หรือ Seppuku” (Fese 1989) จนมาถึงยุคสงครามโลก ทหารที่พลีชีพในสงคราม “กามิกาเซ่” นอกจากนี้ยังมีปรากฎอยู่บ้างประปราย (rare case) ในปัจจุบันที่ยังมีผู้ที่มีความเชื่อสุดโต่งของศักดิ์ศรีความเป็นเพศชายยัง ใช้วิธีฆ่าตัวตายแบบโบราณ (Young 2002) ค่านิยมทางวัฒนธรรมที่เพศชายมีความเป็นใหญ่ และเมื่อล้มเหลวในการดำเนินชีวิต การรักษาหน้า (saving face) และกลัวการเสียหน้า loss of face) มีความเกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย และมักเป็นทางเลือกที่เป็นยอมรับกัน ส่งผลให้อัตราฆ่าตัวตายของเพศชายในญี่ปุ่นสูงกว่าเพศหญิงถึง 5 เท่า (Robert 2006)

ประเด็นเหล่านี้ ทำให้การยอมรับว่าการฆ่าตัวตายเป็นการแก้ปัญหาบางประการของบุคคลที่ไม่ สามารถหาทางออกอย่างอื่นได้ ส่งผลให้มีอัตราฆ่าตัวตายสูง เป็นพื้นที่สีแดงในภมิศาสตร์สนเทศ (GIS) ฆ่าตัวตายขององค์การอนามัยโลก ซึ่งรวมถึงประเทศที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน เกาหลี และจีน

2015_wspd_banner_english

โครงสร้างวัฒนธรรม ค่านิยมของบุคคลในสังคม เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ

ผลจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบตะวันออกไปเป็นแบบตะวันตก ทำให้วิถีชีวิตของคนท้องถิ่นเปลี่ยนไปทำให้ปัญหาการฆ่าตัวตายไม่ใช่ปัญหาสา รณสุขแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีความเกี่ยวโยงกับปัญหาเศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา จึงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของคนในชาติและของชาติได้ในที่สุด ดังนั้นการแก้ปัญหาฆ่าตัวตายจึงต้องทำเป็นระบบและอาศัยความร่วมมือจากหลาย ฝ่าย ตั้งแต่ รัฐบาล ชุมชน ครอบครัว และบุคคล (WHO 2007 : 6)

วัฒนธรรมประเพณี โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางวัฒนธรรม ส่งผลต่อการฆ่าตัวตายของประชากรในสังคม มีการศึกษาในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศตะวันออกที่สรุปตรงกันว่า การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมเป็นตัวสร้างแรงกดดันให้วิถีชีวิตดำเนินไปด้วย ความยากลำบาก ดังเช่นการฆ่าตัวตายในเมืองเชนไนของอินเดีย มาจากการเปลี่ยนผ่านของวัฒนธรรมตะวันตกกระทบวิถีชีวิตแบบตะวันออก มีผู้คนฆ่าตัวตายยกครัวในหลายหมู่บ้าน ส่งผลให้อัตราฆ่าตัวตายในอินเดียปีนั้นสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ (Gehlot 1983)

เช่น เดียวกับในประเทศจีน พบการฆ่าตัวตายในเพศหญิงสูงกว่าในเพศชาย (ซึ่งแตกต่างจากการศึกษาของประเทศอื่นๆทั่วโลก) นั่นเป็นเพราะว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากลักษณะทางวัฒนธรรมความเชื่อ จากการศึกษาของ Dr.Jie Zhang และคณะ เมื่อปี ค.ศ. 2002 พบว่า วัฒนธรรมเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อรูปแบบการฆ่าตัวตายในสังคมของจีน จากประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณีและความเชื่อของชาวจีนถือชายเป็นใหญ่ แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมระหว่างปี ค.ศ. 1966-1976 รัฐบาลโดยเหมาเจ๋อตุง มีนโยบายให้ความเท่าเทียมระหว่างหญิงและชาย หญิงจีนหลายคนเป็นทหารตำแหน่งสูงในกองพลเรดการ์ดของกองทัพประชาชน แต่ความเชื่อเดิมจากวัฒนธรรมขงจื้อ หญิงคือช้างเท้าหลัง จึงทำให้มีความขัดแย้งในใจของหญิงจีนเป็นจำนวนมากในการปรับตัวให้เท่าเทียม ชาย การฆ่าตัวตายจึงเป็นทางเลือกที่หลายคนเลือกปฏิบัติและมักจะเป็นที่ยอมรับกัน โดยเฉพาะในหมู่ชาวชนบท ซึ่งได้สอดคล้องกับวรรณกรรมโบราณที่โด่งดังและมีอิทธิพลต่อความเชื่อของชาว จีน ดังเช่นเรื่องความรักในหอแดง ที่บันทึกความรักของหญิงชายที่เลือกการฆ่าตัวตายเป็นทางออกของปัญหาที่ดีที่ สุด วรรณกรรมเรื่องนี้ถือเป็นความเชื่อพื้นฐาน ที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมต่อแนวคิดการฆ่าตัวตายของประชากรส่วนหนึ่งอย่าง มาก โดยเฉพาะในประชากรเพศหญิงที่อยู่ในสังคมชนบท การศึกษาน้อยจากการศึกษาของ Zhang และคณะได้ศึกษาในเรื่องวัฒนธรรมกับการฆ่าตัวตาย พบว่า วัฒนธรรมและความเชื่อท้องถิ่นมีผลต่ออัตราฆ่าตัวตาย (Zhang and Conwell 2004)

ข้อมูล ดังกล่าวเหล่านี้ และอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงมากขึ้นในประเทศแถบเอเชียหลายประเทศ และผลจากการศึกษาวิจัยที่ค้นพบว่า ปัจจัยทางวัฒนธรรมนั้นเกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายของประชาชน จึงทำให้องค์การอนามัยโลกนำเสนอข้อมูลเพื่อผู้เกี่ยวข้องทั่วโลกได้ตระหนัก และหาทางป้องกัน

ประเทศไทยกับการแก้ปัญหาการฆ่าตัวตายอย่างที่กรมสุขภาพจิตได้นำเสนอข้อมูลมา หลายครั้งแล้ว ปัญหาการฆ่าตัวตายในประเทศไทยที่ได้ทวีความรุนแรงสูงสุดหลังวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง ปี พ.ศ.2540” หลังจากนั้น 2 ปี ปัญหาทวีความรุนแรงจนเป็นวิกฤตสุขภาพจิต อัตราฆ่าตัวตายสูงสุดไปอยู่ที่ 8.7 ต่อประชากรแสนคน (สถิติที่สูงสุดของประเทศ) ประเทศไทยโดยกรมสุขภาพจิตได้มีความพยายามแก้ไขปัญหาโดยการค้นหากลุ่มเสี่ยงฯ ทั้งผู้มีปัญหาซึมเศร้าและผู้ใช้สารเสพติดเข้าสู่ระบบการรักษา และปรับปรุงระบบบริการสู่ชุมชน เพื่อให้กลุ่มเสี่ยงฯเหล่านั้นที่อยู่ในชุมชนเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพ จิตอย่างทันท่วงที ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายบริการสุขภาพจิตอยู่ครบ 75 จังหวัดทั่วประเทศ และปัญหาฆ่าตัวตายก็ได้ลดลงมาเรื่อยๆ ปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2551 อัตราฆ่าตัวตายรวมของประเทศอยู่ที่ 5.96 ต่อประชากรแสนคน

แต่ที่ยังน่าเป็นห่วงคือ เขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบนนั้นยังมีภาพภูมศาสตร์สนเทศ (GIS) เป็นพื้นที่สีแดง นั่นคืออัตราฆ่าตัวตายสูงกว่า 13 ต่อประชากรแสนคน ทั้งๆที่ผู้เกี่ยวข้องได้พยายามแก้ปัญหามาตลอด

ดังนั้น ถึงแม้ว่าองค์การอนามัยโลกจะได้นำคำขวัญเรื่องของวัฒนธรรมมานำเสนอในปีนี้ แต่ทีมงานป้องกันการฆ่าตัวตายไม่ได้นิ่งนอนใจ เราก็ได้ติดตามประเทศอื่นๆในโลกโดยเฉพาะในประเทศจีนที่เขาได้ศึกษาเชิงลึกพบ ปัจจัยเสี่ยงด้านวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย

การศึกษาปัจจัยทางวัฒนธรรมกับการฆ่าตัวตายในประเทศไทย

โดยในปี พ.ศ. 2550 ทีมงานป้องกันการฆ่าตัวตายกรมสุขภาพจิต และเครือข่ายในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน นำโดยทีมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูนและผู้เชี่ยวชาญทางสังคมวิทยาจาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการศึกษา ปัจจัยเสี่ยงด้านวัฒนธรรมกับการฆ่าตัวตายในเขตภาคเหนือตอนบน โดยทำการศึกษาทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ

การศึกษา โดยการสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่เคยพยายามฆ่าตัวตาย ญาติผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ แกนนำชุมชนที่มีอัตราฆ่าตัวตายสูง พบว่า ลักษณะทางวัฒนธรรม ค่านิยม บางอย่างของประชาชนในเขตภาคเหนือตอนบนเกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย พบว่า เพศชายมีความสำคัญสูงสุดในครอบครัว (เพศชายเป็นใหญ่), ถูกคาดหวังจากครอบครัวและสังคมสูง, ไม่กล้าพูด ขี้อาย ดังนั้นเมื่อเผชิญปัญหาทำให้มีทางให้เลือกน้อยเวลามีปัญหามักนอนไม่หลับ และจะใช้การดื่มเหล้า “ตอง” เพื่อแก้ปัญหา ดังนั้น จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการตัดสินใจฆ่าตัวตาย

ประเด็นสำคัญที่ได้จากการวิจัยเชิงคุณภาพอีกอันหนึ่งคือ การ “เสียหน้า” และ “การรักษาหน้า” เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจฆ่าตัวตายของกลุ่มตัวอย่างที่พยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นข้อมูลเช่นเดียวกับที่มีการศึกษาในต่างประเทศ โดยจะพบในเพศชาย วัยผู้ใหญ่ของญี่ปุ่น, (Fuse 1989, Young 2002) พบในเพศชาย วันรุ่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรีเลีย เป็นต้น

แนวทางป้องกัน

การปรับเปลี่ยนค่ายิม ความเชื่อ และวัฒนธรรมบางประการที่ส่งผลเสียต่อบุคคลที่จะนำไปสู่การฆ่าตัวตายเป็น เรื่องที่ยาก แต่อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมีความเชื่อว่า การสร้างความเข้มแข็งทางใจ ของแต่ละบุคคล จะช่วยเป็นเกราะกำบังให้บุคคลเมื่อเผชิญพายุปัญหาโถมใส่เข้าหา ซึ่งเคล็ดลับที่สำคัญ เพียง 2 ประการ คือ

1. การฝึกคิดและมองโลกเป็นบวก การมองโลกในแง่บวกคงไม่ใช่เรื่องที่มีมาแต่กำเนิด แต่เกิดจากการฝึกปฏิบัติจนติดเป็นนิสัย สุดท้ายเราก็จะกลายเป็นคนมองโลกให้บวกติดตัวและติดใจเราตลอดไปได้

มีกูรูท่านหนึ่งกล่าวว่า

i ผู้ที่มองโลกเชิงบวกโดยสม่ำเสมอ เมื่อเผชิญสถานการณ์ที่เลวร้าย เขาจะสามารถพลิกวิกฤติขึ้นมาได้ทันที เพราะคนเหล่านี้จะเชื่อว่า “เขาจะพบทางออกในทุกๆปัญหา”

ii ในทางตรงข้าม ผู้ที่มองโลกในแง่ร้าย แม้จะถูกหวยรางวัลที่ 1 เขาจะมองเห็นปัญหาทันที เพราะคนเหล่านี้เชื่อว่า “จะพบปัญหาในทุกทางออก”

ท่านผู้อ่านลองสำรวจตัวเองดูว่าท่านเป็นเช่น ข้อ i หรือ ข้อ ii

2. การฝึกการออกกำลังกายเพื่อสะสมสารสุข มีสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า “สุขภาพดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องทำเอง” การออกกำลังกายจึงเป็นการสร้างต้นทุนให้มีสุขภาพจิตแข็งแรง สะสมสารสุขให้มีอยู่ต่อเนื่องตลอด โดย การวิ่งจ๊อกกิ้ง หรือเดินเร็ว อย่างน้อยวันละ 30 นาที วันเว้นวัน อย่างนี้ท่านจะสามารถสะสมสารสุขให้ร่างกายได้เพียงพอ

เคล็ดลับทั้ง 2 ข้อนี้ เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาของท่านที่เผชิญกับภาวะเสียหน้าอย่างรุนแรงให้ทานทนต่อสภาพการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ

สรุป

การป้องกันการฆ่าตัวตายที่มีประสิทธิภาพ นอกจากจะเน้นเรื่องการแก้ปัญหาโรคทางจิตเวชแต่เพียงอย่างเดียว คงยังไม่พอที่จะแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายคงต้องมาตระหนักถึงวัฒนธรรม ความเชื่อ ของบุคคลในแต่ละท้องถิ่น โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียด้วยแล้ว เป็นที่ทราบกันดีว่ามีวัฒนธรรมความเชื่อ และค่านิยม บางประการที่แม้จะเป็นประเด็กเล็กๆ แต่มีความละเอียดอ่อนและฝังรากลึกมายาวนาน จึงอาจจะเป็นประเด็นที่ต้องใช้วิธีการที่แตกต่างกัน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสามารถประสบผลสำเร็จสูงสุดดังต้องการได้

ที่มา:กรมสุขภาพจิต

 

Skills

Posted on

15/06/2015