ฟังคุณด้วยใจ โทร. 02-113-6789 เวลา 12:00-22:00 น.

สะพานสายชีวิต: The Bridge

The Bridge : สะพานสายชีวิต

นอกเหนือไปจากรถรางแล้ว ดูเหมือนว่าสิ่งที่เชิดหน้าชูตาอีกอย่างของนครซานฟรานซิสโกก็คือ

สะพานโกลเด้นท์ เกต ซึ่งทำหน้าที่เป็นทางเชื่อมระหว่างอ่าวซานฟรานซิสโกและมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อให้ผู้คนสัญจรไปมาระหว่างสองฝากฝั่ง หลังจากสร้างเสร็จในปี 1937 มันได้กลายเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์แห่งโลกยุคใหม่ เป็นสะพานที่ยาวเป็นอันดับสองของสหรัฐอเมริกา และสีแดงที่เราเห็นของสะพาน (จริงๆเป็นสีที่มีชื่อเรียกว่า International Orange) ดึงดูดผู้คนกว่า 9 ล้านคนให้เดินทางมาเที่ยวที่นี่ทุกปี

ดูเหมือนว่าผู้คนจะมองเห็นแต่ด้านที่สวยงามของสะพานสายนี้ จนเมื่อปี 2003 บทความของแทด เฟรนด์ ที่ชื่อว่า Jumpers ซึ่งตีพิมพ์ใน The New Yorker ก็พาผู้อ่านไปพบกับข้อมูลชวนน่าตกใจ เมื่อบอกว่า โกลเด้นท์ เกต เป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีคนมาฆ่าตัวตายเป็นอันดับต้นๆของโลก ตั้งแต่เปิดมาจนถึงปี 2005 มีคนเลือกมาจบชีวิตลงที่นี่แล้วกว่า 1,200 ราย หรือเฉลี่ย 2 สัปดาห์จะมีคนกระโดดลงจากสะพานหนึ่งคน จากเหตุการณ์ดังกล่าวทางการจึงต้องมีการติดตั้งโทรศัพท์เตือนภัยฉุกเฉินไว้ให้ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาได้ติดต่อเจ้าหน้าที่เมื่อเห็นใครก็ตามซึ่งมีทีท่าว่าจะจบชีวิตตัวเองลงใต้ผืนน้ำ

ทั้งนี้ จากบทความดังกล่าวนี้เองที่เป็นแรงดลใจให้กับ อีริค สตีล คนสร้างหนังและโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ ที่เรารู้จักกันดีจากเรื่อง Shaft และ Angela’s Ashes สนใจที่จะสร้างหนังสารคดีเพื่อถ่ายทอดว่าทำไมและเพราะอะไรผู้คนที่ถึงเลือกตราสัญลักษณ์แห่งนครซานฟรานซิสโกเป็นที่ยุติลมหายใจของตัวเอง นั่นจึงเป็นที่มาของ The Bridge

ตลอดปี 2004 สตีลและทีมงานนำกล้องไปติดตั้งตามมุมต่างๆของสะพานเพื่อจับภาพอิริยาบถของผู้คนที่ผ่านไปมา เหนือสิ่งอื่นใดเขาสามารถจับภาพของคนที่กระโดดลงจากสะพานได้กว่า 19 ราย จากทั้งหมด 24 รายที่ฆ่าตัวตายในปีนั้น แน่นอนว่า คำถามที่ตามมาเมื่อเราดูหนังจบก็คือ ผู้กำกับได้พยายามช่วยเหลือชีวิตคนเหล่านั้นหรือไม่ หรือคิดเพียงว่าจะจับภาพวินาทีที่ตัวเองต้องการเท่านั้น ทั้งนี้ พอไปอ่านบทสัมภาษณ์ของสตีลก็พบว่าตัวเขาและทีมงานได้ช่วยชีวิตคนที่คิดฆ่าตัวตายไว้หลายรายเช่นกัน เพราะเขาจะมีโทรศัพท์ฉุกเฉินไว้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ถ้าเห็นใครก็ตามที่น่าสงสัย

ตัวหนังพาเราไปพบกับภาพของสะพานโกลเด้นท์ เกตในมุมมองที่สวยงามต่างๆมากมาย ตัดสลับกับภาพวิถีชีวิตของผู้คนบนสะพานที่บ้างมาท่องเที่ยว บ้างมาขี่จักรยาน และบ้างมาพลอดรัก รวมทั้งเราจะได้เห็นภาพของผู้คนที่กระโดดลงจากสะพานเต็มๆตา นอกจากนี้ผู้กำกับยังตามไปสัมภาษณ์บุคคลซึ่งแวดล้อมกับผู้ที่มาจบชีวิตลง ณ สะพานแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ เพื่อนฝูง รวมไปถึงคนที่เห็นเหตุการณ์ ซึ่งบางคนก็มีส่วนช่วยชีวิตคนที่คิดสั้นเหล่านั้นไว้ได้ ขณะที่บางคนก็ช่วยไว้ไม่ได้ และเห็นคนกระโดดลงไปต่อหน้าต่อตา

ว่ากันว่า หนังสารคดี (Documentary) ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมๆกับที่คนเรารู้จักถ่ายภาพลงบนแผ่นฟิล์มเลยทีเดียว จอห์น เกรียร์สัน คนสร้างหนังผู้ทรงอิทธิพลอย่างสูงต่อการเคลื่อนไหวของภาพยนตร์สารคดีในประเทศอังกฤษในช่วงทศวรรษที่ 30 ให้คำจำกัดความของหนังในทางนี้ไว้ว่า “เป็นงานสร้างสรรค์ที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของความเป็นจริง” 

เช่นนี้ ภาพยนตร์สารคดีจึงทำหน้าที่บอกเล่าสิ่งที่เป็นไปในสังคม รายงานสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆให้ผู้คนรับรู้ นำเสนอ Fact เป็นที่ตั้ง และไม่ควรตัดสินว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นถูกหรือผิด ซึ่งสตีลก็ทำให้หนังของเขานำเสนอแง่มุมที่ว่ามาได้ในระดับหนึ่ง เขาไม่ได้บอกว่าการฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่ผิด (โดยส่วนตัวเราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรอย่างยิ่ง) เพราะอาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องของปัจเจก เช่นกันกับที่เขาไม่ได้สนับสนุนให้คนมาฆ่าตัวตายไม่ว่าจะที่โกลเด้น เกตหรือที่ไหนก็ตาม

อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าหนังจะนำเสนอความคิดจากด้านเดียว คือ ความคิดของผู้คนที่เกี่ยวพันกับคนที่มาฆ่าตัวตาย ณ สัญลักษณ์แห่งนครซานฟรานซิสโก โดยไม่มีมุมมองจากด้านอื่นๆ เช่น จากนักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญในแขนงนี้ว่าทำไมหรือเพราะอะไรสะพานแห่งนี้ถึงกลายมาเป็นสถานที่ฆ่าตัวตายยอดนิยม ทั้งๆที่สถานที่ตรงนี้ไม่เป็นส่วนตัว สามารถมองเห็นหรือถูกรบกวนได้ง่าย รวมทั้งอาจพาไปสำรวจมุมมองของคนนอกซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์เมื่อมองมายังสิ่งที่เกิดขึ้น หรืออาจจะไปถามความคิดของเจ้าหน้าที่ซึ่งทำหน้าที่คอยดูแลไม่ให้ใครมาฆ่าตัวตาย ณ สถานที่นี้ เป็นต้น

แต่ที่น่าสนใจก็คือ ความคิดของคนที่อยู่แวดล้อมบุคคลที่ฆ่าตัวตาย พวกเขาเหล่านั้นดูเหมือนว่าจะทราบมาก่อนอยู่แล้วว่าบุคคลอันเป็นที่รักกำลังเลือกที่จะปิดฉากชีวิตตัวเอง กล่าวคือ พ่อแม่รับรู้อยู่เต็มอกว่าลูกพยายามฆ่าตัวตายอยู่เสมอ พวกเขารอแค่ว่าเมื่อไหร่ตำรวจจะมาเคาะประตูบ้านเท่านั้น หญิงชราบอกกับลูกชายของเพื่อนสนิทว่า ถ้าเมื่อใดเวลาที่เขาจะจากไปมาถึงให้มากล่าวคำล่ำลาก่อน ทั้งยังบอกกับเขาอีกว่าให้เขียนชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของเธอลงในถุงพลาสติกแล้วใส่ในกระเป๋า เพื่อว่าเมื่อใดที่เจ้าหน้าที่พบศพของเขา เธอจะได้รู้

แม้ว่าจะมีเค้าลางว่าเพื่อนและลูกกำลังจะจากไปอย่างไม่มีวันกลับ แต่พวกเขาเหล่านั้นกลับเลือกที่จะอยู่นิ่งๆ แน่นอนก่อนหน้านี้มีการห้ามปราม บางรายถูกส่งตัวไปรักษาอาการทางจิต แต่สุดท้ายดูเหมือนว่าทุกคนก็จำต้องปล่อยบุคคลที่รักให้ไปในที่ที่เขาเหล่านั้นต้องการ

เพื่อนสนิทของชายที่ฆ่าตัวตายกล่าวว่า เขาสามารถจับเพื่อนของเขามาขังไว้ได้ และยังคงมีลมหายใจอยู่ได้นานกว่านี้ แต่สภาพจิตใจของเพื่อนเขาคงไม่สามารถเยียวยาได้แล้ว ราวกับจะบอกเราว่าอยู่แต่ตัว ขณะที่จิตใจและวิญญาณตายไปแล้ว ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่ความหมายของการมีชีวิตอยู่ เช่นกันกับที่หญิงชรามองว่า การจบชีวิตลงของลูกชายเพื่อนเป็นเหมือนการปลดปล่อยและก้าวไปสู่ชีวิตใหม่

พ้นจากนี้ แม้จะมีผู้คนพลุกพล่านอยู่เสมอ ณ สะพานโกลเด้นท์ เกต แต่ดูราวกับว่าพวกเขาเหล่านั้นต่างไม่ได้สนใจคนรอบตัว ไม่ใคร่สังเกตเลยว่ามีคนปีนรั้วออกไปเพื่อที่จะฆ่าตัวตาย ดูเหมือนว่าต้องมีคนกระโดดลงไปก่อนถึงจะใส่ใจกัน

ตากล้องคนหนึ่งมองเห็นหญิงสาวปีนรั้วออกไปและทำท่าจะกระโดด เขาถ่ายรูปเธออยู่สักพักจึงตัดสินใจว่าควรจะช่วยเธอไว้ หรือเควิน เด็กหนุ่มที่พยายามฆ่าตัวตายซึ่งเขารอดชีวิตมาได้จากการกระโดดสะพาน บอกว่า ระหว่างที่กำลังเดินอยู่บนสะพาน น้ำตาของเขาค่อยๆไหลลงมา ขณะเดียวกันก็มีหญิงสาววิ่งมาหา พร้อมทั้งบอกว่า ช่วยถ่ายรูปให้หน่อย ดูราวกับว่าเธอไม่สังเกตเลยหรือว่าเขากำลังร้องไห้ ไม่ถามเลยสักนิดว่าชายหนุ่มเป็นอะไรหรือเปล่า

ทั้งหมดนี้บอกอะไรกับเรา มันสะท้อนถึงสภาพสังคม (อเมริกันและโลกใบนี้) ว่า ทุกวันนี้ต่างคนต่างคิดแต่ในเรื่องของตัวเอง มองว่าการฆ่าตัวตายนั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคล แม้จะมีคนจะกระโดดสะพานลงไปต่อหน้ายังลังเลที่จะช่วยเพราะคิดว่าธุระไม่ใช่ รอให้เจ้าหน้าที่มาจัดการแล้วกัน ทำราวกับว่าชีวิตของคนอื่นไม่มีค่า ราวกับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าเป็นเพียงฉากหนึ่งในหนัง

แต่ถ้ามองดีๆแล้วนั้น คนที่มาจบชีวิตลงที่โกลเด้นท์ เกต แง่หนึ่งพวกเขาคงอยากถูกมองเห็น แต่พอไม่มีใครคิดจะห้ามปราม ไม่มีใครสนใจว่าตัวเขากำลังกระโดด ก็ส่งให้คิดไปว่าตัวเองไร้ค่า ซึ่งนั้นอาจจะเป็นตัวเร่งให้เขาเหล่านั้นทิ้งตัวลงใต้ผืนน้ำได้ง่ายขึ้น

บางทีถ้าเราให้ความใส่ใจคนรอบตัวมากกว่านี้ สัมผัสความรู้สึกของผู้คนรายล้อมตัวมากกว่าที่เคยเป็น มอบความรักต่อกันแม้เพียงเล็กน้อย และตระหนักเสมอว่าชีวิตทุกชีวิตมีค่าเสมอ ไม่ว่าเราจะรู้จักเขาหรือไม่ นั่นอาจจะทำให้การฆ่าตัวตายลดน้อยลงไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม

หากจะเปรียบว่า สะพานเป็นเหมือนทางสายชีวิต จากฟากฝั่งหนึ่งไปจบลงอีกฝั่ง เราก็ได้แต่หวังว่าคงไม่มีใครเลือกที่จะกระโดดลงไปยังผืนน้ำเบื้องล่างก่อนเวลาอันควร และเดินเคียงกันไปจนสุดทาง เพราะความกล้าหาใช่การจบชีวิตต่อหน้าผู้อื่น หาใช่การกระโดดให้ร่างกระแทกน้ำที่ความสูง 67 เมตร แต่ความกล้าคือการอยู่เพื่อเผชิญหน้ากับความเป็นจริงของชีวิตต่างหาก

 

The Bridge สะพานฆ่าตัวตาย

ผมชอบโปสเตอร์หนังเรื่อง The Bridge ตั้งแต่เห็น ภาพสะพานที่ทอดยาวไปในอากาศ

บางส่วนของสะพานถูกหมอกขาวปกคลุมอยู่ มองเห็นฐานล่างหอคอยสะพาน

แบบขะมุกขะมัว ใต้สะพานเป็นผืนน้ำสีครามเงินที่ดูสงบเงียบ ไร้คลื่นลม

แม้ไม่ได้อ่านเรื่องย่อหรือดูหนังมาก่อน แต่ผมก็สัมผัสความลึกลับของสะพานแห่งนี้ได้

นี่เป็นภาพในมุมที่ไม่ได้เห็นบ่อยนักของสะพานที่ชื่อว่า โกลเดนเกท

หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกปัจจุบัน

 

ความจริงเกี่ยวกับสะพาน

สะพานโกลเดนเกทเป็นผลงานชื้นเอกทางวิศวกรรม สัญญลักษณ์งานทางโครงสร้าง…

ความเฉลียวฉลาดและพลกำลังของมนุษย์ ที่มีชัยชนะเหนือธรรมชาติ

เคยเป็นสะพานแขวนยาวที่สุดในโลกเมื่อสร้างเสร็จในปี 1937

เป็นสัญญลักษณ์ของซานฟรานซิสโก ด้านอิสรภาพและบางอย่างที่มากไปกว่านั้น

บางอย่างที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณที่อธิบายไม่ได้ คนจำนวนหนึ่งเลือกที่จะจบชีวิต

ลงที่สะพานแห่งนี้มากกว่าที่ไหนในโลก ตัวเลขเป็นทางการสิ้นสุดปี 2005

มีคนกระโดดสะพานนี้ตายไปแล้วกว่า 1,200 คน ในช่วงปี 1995-2003 มีคนใช้สะพานนี้

ฆ่าตัวตายเฉลี่ย 2 อาทิตย์ต่อหนึ่งราย ด้วยความสูง 67 เมตร

เมื่อกระโดดลงจากสะพานใช้เวลาเพียง 4 วินาที ร่างคนกระโดดจะกระแทก

กับน้ำเบื้องล่างด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง

โอกาสจะตายแบบที่ตั้งใจไว้มีสูงมาก ส่วนคนรอดชีวิต (ส่วนมากเอาเท้าลงแตะน้ำก่อน)

จะได้รับบาดเจ็บภายในและกระดูกหัก บางรายกระดูกสันหลังแหลกละเอียด

 

ร้อนถึงคณะกรรมการสะพานต้องหามาตรการเพื่อลดจำนวนคนใช้สะพานนี้ฆ่าตัวตายลง

เช่น ห้ามคนเดินบนสะพานในตอนกลางคืน หรือเสนอติดตั้งตาข่ายกันการฆ่าตัวตาย

ซึ่งยุ่งยากต่องานวิศวกรรม ต้องใช้งบประมาณสูงและประชาชนไม่เห็นด้วย

รวมทั้งใช้มาตรการอื่นๆ ประกอบ แต่ตัวเลขคนใช้สะพานนี้ฆ่าตัวตาย

ในปี 2006 มีถึง 34 คน และหาศพไม่เจอ 4 ราย

 

ความจริงแห่งชีวิต

ผมดูหนังสารคดีเรื่อง The Bridge ของผู้กำกับอีริค สตีล ที่เขากำกับเป็นเรื่องแรก

ในเวลาไล่เลี่ยกับหนังสารคดีเรื่อง The Secret ที่ผมจะเขียนลงในโอกาสหน้า

เมื่อดูหนัง The Bridge จบลง ผมเห็นความแตกต่างของหนังสองเรื่องค่อนข้างชัดเจน

ในขณะที่ The Secret ผ่านการปรุงแต่งอย่างเต็มที่ในการนำเสนอ

ทั้งงานภาพ เทคนิคพิเศษ กราฟิค เพื่อทำให้คนดูเชื่อและคล้อยตาม”สาร”ที่หนังนำเสนอ

ส่วน The Bridge กลับผ่านการปรุงแต่งน้อยมาก จนหนังเกือบจะเป็น Reality

งานภาพที่ตั้งกล้องไว้นิ่งๆ เพื่อถ่ายภาพสะพานโกลเดนเกทในมุมต่างๆ

ทั้งกลางวันและกลางคืน หรือยามที่เมฆหมอกพัดปกคลุมเหนือสะพานแห่งนี้

หนังถ่ายทอดบทสัมภาษณ์ของคนในครอบครัว เพื่อนสนิทและคนรอบข้าง

ที่สูญเสียคนที่รัก คนที่ใช้สะพานแห่งนี้ฆ่าตัวตาย

รวมทั้งภาพเหตุการณ์จริงวินาทีก่อนที่คนเหล่านี้ตัดสินใจกระโดดลงมาและเสียชีวิต

ภาพทั้งหมดถูกนำมาร้อยเรียงอย่างน่าติดตาม

รวมทั้งดนตรีประกอบที่วังเวงและลึกลับที่ช่วยเพิ่มความระทึกใจ

ในวินาทีชีวิตที่พวกเขาตัดสินกระโดดสะพานลงมาตาย

 

คนที่ฆ่าตัวตายคิดอะไรอยู่ในใจ วินาทีก่อนที่พวกเขาจะกระโดดสะพานลงลงมา

พวกเขาอาจเชื่อว่าความตายจะทำให้พวกเขาเป็นอิสระ ไม่ต้องเจ็บปวดทรมานอีกต่อไป

ชีวิตของจีน (ตามคำบอกเล่าของคนรอบข้าง) เขาไว้ผมดำยาวประบ่า ใส่เสื้อกางเกงสีดำ

ผนังห้องสีดำ ม่านสีดำ และผ้าปูที่นอนสีดำ เหมือนจีนไว้ทุกข์ให้กับชีวิต

ส่วนลิซ่าเจ็บป่วยจากโรคความระแวงในจิตเภท (Paranoid Schizophrenia)

เธอหลุดออกจากโลกแห่งความเป็นจริง

(จอห์น แนช ตัวละครในเรื่อง The Beautiful Mind ก็ป่วยเป็นโรคนี้)

ลิซ่าเข้าออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น ก่อนที่อาการจะแย่ลงเรื่อยๆ

และฟันร่วงหมดปากเพราะติดน้ำอัดลม

ฟิลิปเด็กหนุ่มอีกคนที่สังเวยชีวิตบนสะพานแห่งนี้ เมื่อเขานั่งรถพ่อแม่ผ่านสะพานแห่งนี้

เขาขอลงมาเดินที่สะพาน ฟิลิปหลงใหลสะพานแห่งนี้มาก

แม่บอกว่าสะพานนี้เหมือนแม่เหล็กดึงดูดตัวเขาไว้ให้มาหา ฯลฯ

นี่เป็นเพียงบางส่วนของเหยื่อที่สังเวยชีวิตบนสะพานแห่งนี้

 

ความตายแค่เป็นจุดเริ่มต้น

หนังพยายามค้นหาว่าทำไมพวกเขากล้าฆ่าตัวตาย ผ่านคำบอกเล่าของคนใกล้ชิดผู้ตาย

พ่อของพิลิปบอกว่ามันเหมือนการเป็นมะเร็งในจิตใจ เมื่อมาถึงจุดที่ทนไม่ได้อีกต่อไป

เมื่อนั้นพวกเขาก็ทำอะไรได้ทุกอย่าง เหมือนตกอยู่ในบ่วงที่ดิ้นไม่หลุด

ทางเดียวที่ที่พวกเขาเป็นอิสระได้คือความตาย รวมทั้งการไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง

คิดว่าตนเองไร้ค่าและต่ำต้อย หนังให้เห็นลายมือของคนตายคนหนึ่งที่เขียนไว้

บรรยายความหดหู่ของชีวิต “ผมเคยฉลาด เคยถูกโหวตว่าจะประสบความสำเร็จมากที่สุด

แล้วมันเกิดอะไรกับชีวิตผม ผมอายุ 50 แต่ไม่มีเงิน ไม่มีงาน ไม่มีเพื่อน ไม่มีที่ซุกหัวนอน”

ลายมือที่โล้ไปมา ตัวหนังสือสั่นไหวเพราะความรู้สึกที่พุ่งพล่านในจิตใจ

การไม่ยอมให้อภัยตนเอง ไม่นับถือตัวเอง จมอยู่ในความทุกข์เศร้า

ได้พาชีวิตพวกเขาไปสู่จุดแห่งความตาย แม้สาเหตุที่คนฆ่าตายจะหนีไม่พ้นเรื่องเหล่านี้

แต่การทำเสนอแบบตรงไปตรงมา ไร้การปรุงแต่งทางอารมณ์ ทุกอย่างที่เสนอเป็นจริง

กลับทำให้คนดูรู้สึกอย่างรุนแรงในสภาพจิตของคนตาย ช่วงนาทีแห่งความเป็นความตาย

เราไม่รู้หรอกว่าพวกเขาต้องต่อสู้มากมายแค่ไหน

 

แล้วความตายเป็นคำตอบสุดท้ายอย่างนั้นหรือ ความตายจะนำไปสู่ที่ที่ดีกว่า

ไม่ต้องเจ็บปวดทรมานอีกต่อไป แต่หลังความตายมีอะไรรออยู่ข้างหน้า

พวกเขาอาจจะสุขหรือทุกข์ยิ่งกว่าเดิมก็ได้ ไม่มีใครรู้เพราะพวกเขาไม่เคยกลับมาบอก

แต่ที่แน่ที่สุดก็คือพวกเขาได้ทิ้ง”บาดแผล”ให้คนที่อยู่เบื้องหลังอย่างแสนสาหัส

แม้จะพยายามปลอบใจตัวเองว่าคนเหล่านั้นไปในที่สงบแล้ว

แต่ลึกๆ แล้วพวกเขาก็รู้ว่ามีส่วนในการตายของคนเหล่านั้นด้วยไม่มากก็น้อย

ถ้าเพียงแต่ให้ความรัก ความเข้าใจ เอาใจใส่ดูแลมากกว่านี้ พวกเขาอาจไม่ฆ่าตัวตายก็ได้

นี่เป็นแผลบาดลึกถึงจิตใจของคนอยู่เบื้องหลังไปตลอดชีวิต

 

กว่าจะมาเป็นสารคดีเรื่องนี้ได้

อีริค สตีลและทีมงานถ่ายทำ The Bridge ในปี 2004 และใช้เวลาตลอดทั้งปีถ่ายทำ

โดยเก็บภาพมุมต่างๆ ของสะพานโกลเดนเกทอย่างละเอียดถี่ถ้วน

และสามารถเก็บภาพวินาทีชีวิตคนกระโดดสะพานลงมาตายได้ถึง 24 ราย

รวมทั้งรายที่ทำไม่สำเร็จ เพราะมีคนมาช่วยไว้ทันได้อีกหลายราย

อีริคถ่ายสัมภาษณ์ครอบครัว เพื่อนและคนใกล้ชิดของคนตาย

โดยไม่บอกว่าถ่ายฟุตเทจวินาทีฆ่าตัวตายเอาไว้ อีริคเก็บการถ่ายทำไว้เป็นความลับ

เพื่อไม่ให้คนที่รู้เรื่องหนังนี้ เกิดคิดจะฆ่าตัวตาย เพื่อภาพพวกเขาจะปรากฏอยู่ในหนัง

และระหว่างการถ่ายทำมีคนกระโดดสะพานลงมาเฉลี่ยทุกๆ 15 วัน

อีริคนำภาพที่ถ่ายทำแล้ว capture ลงสำหรับตัดต่อได้ถึง 100 ชั่วโมง

บทสัมภาษณ์คนใกล้ชิดผู้ตาย พยานเห็นเหตุการณ์ที่เดิน วิ่ง ขับรถผ่านสะพาน

หรือกำลังเล่นสกีน้ำอยู่ใต้สะพาน รวมทั้งบทสัมภาษณ์ของคนพยายามฆ่าตัวตาย

 

แต่หนังเรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้คณะกรรมการสะพานเป็นอย่างมาก

ออกมาต่อต้านคณะสร้างว่าหลอกลวงพวกเขา ว่าจะทำหนังสารคดีเกี่ยวกับอนุสาวรีย์แห่งชาติ

คณะกรรมการจึงอนุญาตให้ใช่้สถานที่ถ่ายทำได้ ก่อนที่อีริคจะแจ้งภายหลังว่า

ได้ถ่ายภาพฟุตเทจคนกระโดดสะพานฆ่าตัวตายไว้กว่า 20 ราย

เจ้าหน้าที่ระดับสูงกล่าวว่า “น่ากลัวมากที่ถ่ายภาพแบบนั้นไว้

ไม่ว่าคนสร้างจะมีเป้าหมายใดก็ตาม อดจะนึกถึงหนังแนว snuff film

(หนังที่บันทึกความตายจริงๆ) ไม่ได้”

ผมไม่เห็นด้วยกับเจ้าหน้าที่คนนี้นัก แม้หนังจะบันทึกภาพแห่งความตายเอาไว้

แต่ก็ไม่ได้ใช้พร่ำเพรื่อโดยไม่เห็นแก่คนที่ตาย

วินาทีแห่งความตายนั้นสร้างความสลดใจกับคนดู

มากกว่าจะสนุกไปกับภาพความตาย และภาพเหล่านั้นจะมีอยู่ไม่กี่ครั้งในหนัง

แต่ทุกครั้งที่กล้องจับภาพคนที่เดินบนสะพาน โดยไม่รู้ว่าคนไหนบ้างจะเป็นหนึ่งนั้น

คนที่ท้อแท้สิ้นหวังในชีวิต สายตาเหม่อลอยไปเบื้องหน้าอย่างไร้จุดหมาย

มือที่กำราวสะพานไว้แน่น ก่อนจะโน้มตัวออกไปนอกสะพาน

ภาพที่ได้เห็นนั้นถูกผสมผสานกับดนตรีประกอบที่ลึกลับและน่ากลัว

ทำให้คนดูลุ้นระทึกขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้ และภาวนาอย่าให้พวกเขาทำสำเร็จเลย

The Bridge ไม่ใช่หนังขายความตาย แต่เป็นการเดินทาง

ไปถึงก้นบึ้งในหลุมฝังศพของคนตาย

 

Skills

Posted on

10/06/2015